ข้อมูลสุขภาพ

การตรวจคัดกรอง "มะเร็งเต้านม"

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในมะเร็งไม่กี่ชนิดที่สามารถตรวจคลำได้ด้วยมือจากภายนอก ข้อมูลในปัจจุบันพบว่าการตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะต้นสามารถเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม โอกาสรอดชีวิตที่ 5 ปีของมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 และ 2 สูงถึง 98% และ 88% ตามลำดับ ตามแนวทางของสถาบันมะเร็งแห่งชาติแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ดังนี้

1. การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง: ควรคลำเต้านมทุกเดือนตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ หลังหมดประจำเดือน 2-3 วัน เนื่องจากจะคัดเต้านมน้อย
2. การตรวจเต้านมโดยแพทย์: แนะนำให้ตรวจปีละ 1 ครั้งในผู้ป่วยที่อายุ 40 ปีขึ้นไป
3. การถ่ายภาพเอ็กเรย์เต้านม (Mammography) : เป็นการตรวจที่มีความไวมากกว่าการคลำ สามารถตรวจพบก้อนมะเร็งขนาดเล็กๆได้ อาจทำร่วมกับการตรวจอัลตร้าซาวด์ (ultrasonography) ในคนไข้ที่เนื้อเต้านมค่อนข้างแน่น แนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปี โดยตรวจต่อเนื่องทุก 1-2 ปี หรือถี่กว่านั้นหากตรวจพบความผิดปกติ
ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านม เช่น มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ที่อายุน้อยกว่า 40 ปี ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเร็วขึ้น คือควรตรวจตั้งแต่อายุที่ญาติเป็นมะเร็งลบด้วย 5-10 ปี


การวินิจฉัยมะเร็งเต้านม
การวินิจฉัยมะเร็งเต้านมทำเมื่อมีการตรวจพบก้อนผิดปกติจากการตรวจคัดกรอง (ทั้งจากการตรวจเต้านมด้วยตนเองหรือการเอกซเรย์) หรือพบการมีแคลเซียมเป็นจุดที่ผิดปกติจากการตรวจเอกซเรย์ ซึ่งจะต้องทำการตรวจว่าเป็นมะเร็งหรือไม่และมีการแพร่กระจายแล้วหรือไม่
วิธีที่วินิจฉัยได้แม่นยำคือวิธีการนำชิ้นเนื้อออกมาตรวจ โดยแพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจชิ้นเนื้อเต้านมหรือต่อมน้ำเหลือง โดยใช้เข็มเจาะตัดเนื้อเยื่อ (core needle biopsy) หรือใช้เข็มเจาะดูดเซลล์ (Fine needle aspiration) เพื่อนำตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือเซลล์ไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อหาชนิดของมะเร็งเต้านม แต่หากไม่สามารถตรวจด้วยวิธีนี้ได้ แพทย์จะพิจารณาการตรวจด้วยวิธีอื่น
ทั้งนี้ การวินิจฉัยโรคแพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ประกอบ เช่น อายุ การใช้ยาในปัจจุบัน ประเภทของมะเร็ง ระดับความรุนแรงของอาการ และผลการตรวจสอบก่อนหน้านี้ เป็นต้น โดยวิธีการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมสามารถทำได้ดังนี้
1. การตรวจทางรังสีวิทยา
- การใช้เครื่องถ่ายภาพรังสีเต้านมเพื่อการวินิจฉัย (diagnostic mammography)
- การใช้คลื่นเสียงความถี่สูงถ่ายภาพเต้านม (ultrasound)
- การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าถ่ายภาพเต้านม (magnetic resonance imaging: MRI)
2. การเก็บชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา (biopsy)
3. การตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา
4. การตรวจเลือด
5. การตรวจเพิ่มเติม
- การถ่ายภาพเอกซเรย์ทรวงอก
- การตรวจการลุกลามของมะเร็งไปยังกระดูก (bone scan)
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computed tomography scan: CT scan) เพื่อสร้างภาพ 3 มิติของอวัยวะต่างๆ เพื่อเพิ่มความละเอียดในการตรวจหาการลุกลามของมะเร็ง


อ่านเพิ่มเติม
คลิก >> ปัจจัยเสี่ยง "มะเร็งเต้านม"
คลิก >> สัญญาณเตือน "มะเร็งเต้านม"
คลิก >> การรักษา "มะเร็งเต้านม"


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกอายุรกรรม โทร 045-429100 ต่อ 1123, 1124