ข้อมูลสุขภาพ

เพราะกลิ่นปาก...เป็นเรื่องสำคัญ

กลิ่นปาก (Halitosis/Bad breath) ปัญหาใหญ่ของใครหลายคนที่ทำลายความมั่นใจในการเข้าสังคม ส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพ และส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง สาเหตุส่วนใหญ่ประมาณ 90% มาจากภายในช่องปาก เกิดจากเชิ้อโรคกลุ่มแบคทีเรีย เมื่อมีการย่อยสลายเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ตามส่วนต่างๆ ของช่องปากผ่านขบวนการหมักของเชื้อ ส่งผลให้เกิดกลิ่นเหม็นขึ้น โดยแบคทีเรียนี้เป็นเชื้อปกติที่อยู่ในช่องปาก ดังนั้นเมื่อมีเศษอาหารตกค้าง แบคทีเรียก็สามารถเข้าไปหมักย่อยสลาย และเกิดกลิ่นเหม็นขึ้นได้  บริเวณที่มักพบการสะสมของเศษอาหาร คือ ซอกฟัน หลุมร่องฟัน ร่องเหงือก ลิ้น ส่วนอื่นที่สามารถพบได้ คือ  รูฟันผุ ขอบเหงือกที่อักเสบ นอกจากนี้ปริมาณการหลั่งของน้ำลายที่น้อยก็ส่งผลต่อการเกิดกลิ่นปากได้


สาเหตุของกลิ่นปาก มีปัจจัยจากภายในและภายนอกช่องปาก

1.ปัจจัยจากภายในช่องปาก

  • •  ฟันผุ ที่มีเศษอาหารตกค้างสะสมอยู่ในรูฟันผุ ในรายที่ผุทะลุโพรงประสาทฟันจะมีหนองเกิดขึ้นที่ปลายรากฟันร่วมด้วย
  • •  โรคเหงือกอักเสบ หรือโรคปริทันต์ จากการมีสุขภาพอนามัยในช่องปากที่ไม่ดี มีคราบจุลินทรีย์และหินน้ำลายสะสมมาก โดยเฉพาะในรายที่ร่องเหงือกลึกอักเสบมาก
  • •  ผู้ที่ใส่ฟันปลอม หรือเครื่องมือต่างๆ ในช่องปาก เช่น ใส่เครื่องมือจัดฟัน หรือใส่เครื่องมือกันฟันล้ม ที่ทำความสะอาดไม่ดีพอ และในผู้ที่ใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ในขณะนอนหลับ
  • •  มีแผลในช่องปาก เช่น แผลร้อนใน เริม เนื้องอก แผลถอนฟัน หรือแผลที่เกิดจากการผ่าตัดในช่องปาก
  • •  น้ำลาย โดยปกติน้ำลายจะช่วยชะล้างสิ่งสกปรก ในรายที่มีภาวะปากแห้ง (Xerostomia) น้ำลายหลั่งน้อยกว่าปกติ จะทำให้เกิดกลิ่นปากได้ ปัจจัยที่ทำให้น้ำลายหลั่งน้อย เช่น ขณะนอนหลับ อดน้ำอดอาหาร ดื่มน้ำไม่เพียงพอ อากาศร้อน ความเครียด การเจ็บป่วย หรือทานยาบางชนิด
  • •  ลิ้น จะมีตุ่มรับรสที่ลักษณะไม่เรียบกระจายตามพื้นผิวของลิ้น ซึ่งจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและเศษอาหาร เกิดเป็นฝ้าสีขาวบนลิ้น ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดกลิ่นได้

2.ปัจจัยจากภายนอกช่องปาก

  • • การสูบบุหรี่ นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบและคนรอบข้างแล้ว ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้สูบเป็นโรคเหงือกโรคปริทันต์รุนแรงมากขึ้นด้วย และกลิ่นของบุหรี่ที่ตกค้างอยู่ในช่องปากผสมกับกลิ่นจากเชื้อในช่องปาก ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเฉพาะตัว
  • • การรับประทานอาหาร เช่น หัวหอม สะตอ กระเทียม เครื่องเทศ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้มีกลิ่นปากได้ แต่หลังจากอาหารถูกย่อยดูดซึม และขับถูกถ่ายออก กลิ่นก็จะหายไปเอง
  • • โรคทางระบบต่างๆ
  • - ระบบทางเดินหายใจ เช่น โพรงจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ เนื้องอกในช่องคอ หรือหลังโพรงจมูก โรคปอดอักเสบ วัณโรคปอด หรือมะเร็งปอด เป็นต้น
  •  - ระบบทางเดินอาหาร  อาจเกิดจากหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร มีแผลในกระเพาะ อาหาร อาจมีกลิ่นขณะพูดหรือเรอ นอกจากนี้ระบบย่อยอาหารไม่ดี อาหารไม่ย่อย ระบบขับถ่ายไม่ดี ท้องผูกบ่อยๆ ก็เป็นสาเหตุให้เกิดกลิ่นปากได้เช่นกัน 
  •  - โรคอื่นๆ เช่น โรคตับ โรคไต และโรคเบาหวาน กลิ่นปากและกลิ่นลมหายใจที่ส่งออกมาอาจแสดงอาการของโรคได้ 

วิธีการทดสอบว่าคุณมีกลิ่นปากหรือไม่ (ยิ่งค้นพบเร็ว!...จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเอง)
1. การทดสอบกลิ่นด้วยตนเอง
    เอามือปิดปากและจมูก เป่าลมออกจากปากและสูดดม หรือขอความร่วมมือจากคนใกล้ชิดช่วยบอกก็ได้ (ต้องขอบคุณเขาให้มากที่ช่วยบอกช่วยเตือน ถือว่าเขารักคุณมากเลยนะคะ)
    นอกจากนี้สามารถใช้ช้อนพลาสติกเล็กๆ ขูดด้านบนของลิ้น หรือใช้ไหมขัดฟันผ่านลงไปที่บริเวณซอกฟันกรามด้านในแล้วดมกลิ่น 
2. การทดสอบกลิ่นด้วยเครื่องมือ โดยวัดปริมาณของก๊าซที่เป็นสาเหตุของกลิ่น เช่น เครื่อง Simplified Gas Chromatograph ซึ่งเหมาะกับการวินิจฉัย และติดตามการรักษา

แนวทางการป้องกันและรักษากลิ่นปาก
1. ดูแลสุขอนามัยช่องปากอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ ทำความสะอาดด้วยการแปรงฟัน แปรงลิ้น และทำความสะอาดซอกฟันด้วยไหมขัดฟัน
2. หากใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ ควรเน้นทำความสะอาดแปรงฟันปลอมให้สะอาดอยู่เสมอ และก่อนนอนควรถอดฟันปลอมแช่น้ำไว้ ไม่ใส่ฟันปลอมขณะนอนหลับ 
3. หลีกเลี่ยงอาหารว่างหรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นแรง เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม เน้นผักและผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง
4. เมื่อพบว่ามีกลิ่นปาก จำเป็นต้องหาสาเหตุเพื่อนำไปสู่การแก้ไขที่ถูกต้อง ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก และให้การรักษาพร้อมทั้งคำแนะนำอย่างถูกต้อง หากไม่พบสาเหตุในช่องปาก จำเป็นต้องส่งปรึกษาแพทย์ต่อไป เพราะกลิ่นปากที่ส่งออกมาอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายได้
5. สำหรับลูกอมหรือหมากฝรั่งที่ช่วยลดกลิ่น สเปรย์หรือน้ำยาบ้วนปากต่างๆ จะช่วยลดกลิ่นปากได้ชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากยังไม่ได้กำจัดสาเหตุที่แท้จริงออกไป อาจทำให้อาการของโรคถูกบดบัง จนทำให้เกิดอาการรุนแรงได้


อย่าปล่อยให้กลิ่นปาก มาทำร้ายคุณ!!


แนะนำโดย

ทพญ.วิจิตรา ศรีอุฬารวัฒน์ 

ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก /หัวหน้าแผนกทันตกรรม

โรงพยาบาลอุบลรักษ์ ธนบุรี


เรื่องของฟัน ให้รพ.อุบลรักษ์ ธนบุรี ช่วยดูแล 

แพ็คเกจทันตกรรม 🦷✨

• แพ็คเกจฟอกสีฟัน  

• แพ็คเกจวีเนียร์ 

• ขูดหินปูน ด้วย Airflow 

• ซีรีย์เหงือกปัง Let's SMILE 

• แพ็คเกจรากฟันเทียม


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกทันตกรรม โทร 045-429100 ต่อ 2203