ข้อมูลสุขภาพ

วิตามินดี มีดีอย่างไร

ความสำคัญของวิตามินดี
วิตามินดี เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน มีความสำคัญต่อร่างกายคือ
- ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากอาหาร และรักษาระดับแร่ธาตุดังกล่าวในเลือดให้เป็นปกติ
- ยับยังการหลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการสลายกระดูก
หากขาดวิตามินดี จะส่งผลให้การดูดซึมแคลเซียมในทางเดินอาหารลดลง มวลกระดูกลดลง เมื่อลื่น ตก หกล้ม อาจเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ภาวะขาดวิตามินดี อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ได้แก่ ระดับแคลเซียม และฟอสฟอรัส ในเลือดต่ำ โรคกระดูกอ่อนในเด็ก (Ricket disease) และโรคกระดูกอ่อนในผู้ใหญ่ (Osteomalacia) เป็นต้น

ภาวะพร่อง หรือ ขาดวิตามินดี (Vitamin D insufficiency or deficiency)
เป็นภาวะที่ระดับวิตามินดีต่ำกว่าค่าปกติ ทำให้การดูดซึมแคลเซียมในร่างกายลดลง ส่งผลให้มวลกระดูกลดลง จนนำไปสู่ภาวะกระดูกบาง และโรคกระดูกพรุนได้
เราสามารถวินิจฉัยได้จากการวัดค่า 25-hydroxy-vitamin D เพื่อแสดงระดับวิตามินดีในเลือด ดังนี้
- ระดับปกติ : มากกว่า 30 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร
- ภาวะพร่องวิตามินดี (Vitamin D insufficiency) 20-30 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร
- ภาวะขาด วิตามินดี (Vitamin D deficiency) น้อยกว่า 20 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร

สาเหตุของการขาดวิตามินดี 
- ได้รับวิตามินดีจากอาหารไม่เพียงพอ โดยบุคคลที่รับประทานมังสาวิรัติและไม่รับประทานเนื้อปลา มีแนวโน้มได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอในแต่ละวัน
- ได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ การหลีกเลี่ยงแสงแดด รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด ส่งผลให้การสังเคราะห์วิตามินดีจากผิวหนังลดลง
- การดูดซึมตามินดีผ่านทางเดินอาหารบกพร่อง จากโรคที่ส่งผลให้การดูดซึมวิตามินดีลดลง เช่น Celiac disease. Crohm’s disease เป็นต้น 
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยากันชัก ยาขยายหลอดลม ยารักษาวัณโรคบางชนิด 

เมื่อขาดวิตามินดีแล้วควรทำอย่างไร
- ทำกิจกรรมที่ได้รับแสงแดดอ่อนๆ เช่น เวลาเช้า 6.00-8.00 น. หรือช่วงเย็น 16.00-18.00 น.  อย่างน้อย 15 นาที 2-4 ครั้ง / สัปดาห์ แสงแดดจะช่วยเปลี่ยนคอเลสเตอรอลในร่างกาย เป็นวิตามินดี
- รับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูง เช่น ไข่แดง นม น้ำมันตับปลา ปลาที่มีน้ำมันสูงเช่น ซาร์ดีน ทูน่า แซลมอน แมคเคอเรล 
- รับประทานวิตามินดีเสริม เช่น วิตามินดี 2 (Ergocalciferol) วิตามินดี 3 (Cholecalciferol) โดยแพทย์จะเป็นผู้เลือกใช้วิตามินดีเสริม โดยประเภทของวิตามินดีจะขึ้นอยู่กับสภาวะและความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย
- ตรวจติดตามระดับวิตามินดีในเลือดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของทางโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ

คลิก >> โปรแกรมตรวจโรคกระดูกพรุน BMD Premium <<

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกกระดูกและข้อ ชั้น 2 โรงพยาบาลอุบลรักษ์ ธนบุรี
โทร. 045 429100 แผนกผู้ป่วยนอก 2 ต่อ 2241, 2242