ข้อมูลสุขภาพ

การตรวจสวนหัวใจ (การฉีดสีหัวใจ)

การตรวจสวนหัวใจ (การฉีดสีหัวใจ)
Coronary Angiography: CAG

การสวนหัวใจ คือ การฉีดสารทึบรังสีดูช่องทางเดินของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถประเมินได้ว่า หลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบ-ตันบ้างหรือไม่ กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงเพียงใด ลิ้นหัวใจเปิดปิดได้ดีเพียงใด อีกทั้งยังสามารถวัดความดันภายในหัวใจและส่วนต่างๆ ของหัวใจได้ด้วย




ข้อบ่งชี้ในการสวนหัวใจ(การฉีดสีหัวใจ)

  1. มีอาการเจ็บหน้าอก
  2. คลื่นไฟฟ้าหัวใจระยะพักหรือเมื่อออกกำลังกายผิดปกติ
  3. ตรวจหาบริเวณที่อาจมีรอยโรค
  4. ตรวจเพื่อเตรียมการผ่าตัดหัวใจ

 

ประโยชน์ของการสวนหัวใจ(การฉีดสีหัวใจ)

  1. วินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้ตรงจุด
  2. สะดวก รวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 20 - 30 นาที
  3. สามารถรักษาด้วยวิธีการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและขดลวดต่อได้ทันที ซึ่งใช้เวลารักษาเพียง 45 นาที - 1 ชั่วโมงเท่านั้น
  4. มีความเสี่ยงต่ำและภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้น้อยมาก
  5. ผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็ว นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1-2วัน ก็สามารถกลับบ้านได้

 

การเตรียมตัวทำการฉีดสีสวนหัวใจ

  1. หากมีประวัติแพ้ยา หรือแพ้อาหารทะเล ต้องแจ้งแพทย์ก่อน เพื่อพิจารณาให้ยาแก้แพ้
  2. หากมียาที่รับประทานเป็นประจำ โดยเฉพาะยาละลายลิ่มเลือด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ และนำมาให้แพทย์ดู
  3. ต้องงดอาหารและน้ำดื่ม 4-6 ชั่วโมง
  4. ควรได้รับการตรวจผลเลือด เช่น ค่าการทำงานของไต การทำงานของเม็ดเลือดแดง และเกลือแร่ในกระแสเลือด
  5. ควรได้รับการตรวจเอ็กซเรย์ปอด และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  6. ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเข้าห้องตรวจสวนหัวใจ








สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

โทร. 045-429100 ต่อ ศูนย์หัวใจ 4425 , 4430


ขั้นตอนการฉีดสีสวนหัวใจ

  1. แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ก่อนทำการเจาะ หลอดเลือดแดงบริเวณข้อมือหรือขาหนีบ
  2. แพทย์จะสอดท่อพลาสติกอ่อนเข้าไปในหลอด เลือดแดง เพื่อเป็นทางผ่านเข้าออกของสายสวนหัวใจเข้าสู่หลอดเลือด แดงใหญ่ของหัวใจ
  3. แพทย์ฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในสายสวน สารทึบรังสีจะผ่านเข้าสู่หลอดเลือดหัวใจ ทำให้สามารถเห็นภายในหลอดเลือด
  4. ระหว่างการตรวจฉีดสีสวนหัวใจจะมีการตรวจติดตามความดันโลหิต ชีพจร ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดและอาการของผู้ป่วยเป็นระยะ
  5. หากพบความผิดปกติของหลอดเลือดที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการสวนหัวใจ แพทย์จะขยายส่วนที่ตีบแคบของหลอดเลือดนั้นด้วยบอลลูนและ ขดลวดถ่างขยาย (Stent)
  6. เมื่อเสร็จกระบวนการวินิจฉัยและรักษาแล้ว แพทย์จะดึงสายสวนหัวใจและท่อพลาสติกออกจากหลอดเลือดแดงบริเวณข้อมือหรือ ขาหนีบและกดห้ามเลือดประมาณ 10-15  นาที หากมีการขยายหลอดเลือดด้วย      อาจต้องคาท่อพลาสติกไว้อีกประมาณ    4-6  ชั่วโมง จึงจะนำท่อออก

การปฏิบัติตัวหลังการฉีดสีสวนหัวใจ

  1. ควรพักฟื้นที่โรงพยาบาล 1-2 วัน
  2. สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ และควรดื่มน้ำมากๆ วันละ 1-1.5 ลิตร เพื่อขับสารทึบรังสีออกทางปัสสาวะได้มากขึ้น

กรณีสอดสายสวนหัวใจเข้าไปทางข้อมือ

  1. บริเวณข้อมือจะถูกกดห้ามเลือดด้วยสายรัดข้อมือประมาณ 2-4 ชั่วโมง เมื่อเลือดหยุดพยาบาลจะนำสายรัดข้อมือออกให้ ผู้ป่วยห้ามถอดสายรัดข้อมือออกเองโดยที่แพทย์ไม่อนุญาตกรณีสอดสายสวนหัวใจเข้าไปทางขาหนีบ
  2. บริเวณขาหนีบจะถูกกดแผลห้ามเลือดประมาณ 15-30 นาที ช่วงแรกแผลที่ขาหนีบจะถูกกดและห้ามเลือดด้วยหมอนทราย (หนักประมาณ ½ - 1 กก.)
  3. ห้ามงอขาหรือลุกนั่งหรือยืนโดยที่แพทย์ไม่อนุญาต
  4. หลังฉีดสีสวนหัวใจ 1-7 วัน ควรงดยกของหนัก การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมหนักๆ การเดินมากๆ หรือการวิ่ง
  5. หากมีรอยช้ำ บวมแดง หรือเจ็บมากบริเวณที่เคยใส่สายสวน ควรรีบแจ้งหรือมาพบแพทย์ทันที